วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 4 แนวคิดและองค์ประกอบของภาวะผู้นำทรงพลัง

ผู้นำ เป็นบุคคลที่ได้มีโอกาสนำ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะได้นำเพระการสืบทอดหรือการแต่งตั้งตามกฎหมายก็ตาม  ในขณะที่ ภาวะผู้นำ หมายถึง ความสามารถในการนำ หน้าที่สำคัญของผู้นำ คือ การสร้างแรงจูงใจต่อการทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถให้เกิดขึ้นกับใต้บังคับบัญชา หรือผู้ตาม  พร้อม ๆ ไปกับ การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์การ 
ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอยู่หลายประการ จึงทำให้คนส่วนหนึ่งเชื่อว่า  ภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่ลี้ลับไม่อาจสัมผัสได้  ในขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งกลับเชื่อว่า ภาวะผู้นำสามารถพัฒนาขึ้นได้จากการใช้ความพยายามและการฝึกฝนอย่างหนักของบุคคลนั้น อย่างไรก็ตาม ภาวะผู้นำของแต่ละบุคคล  แม้ไม่สามารถวัดได้โดยตรง และไม่สามารถแสดงระดับความสามารถออกมาเป็นตัวเลขได้ หากแต่  เป็นที่ยอมรับว่า  ไม่มีใครมีภาวะผู้นำเป็นศูนย์  ภาวะผู้นำ จะสามารถแสดงออกได้ หากเขาเหล่านั้น ได้มีโอกาสในการนำ   ยิ่งงานยาก งานมาก งานใหญ่ ยิ่งต้องการภาวะผู้นำที่สูงขึ้นตามไปด้วย ภาวะผู้นำ จึงเปรียบเสมือนพลังของผู้นำที่สามารถส่งแรงกระทำอันก่อให้เกิดการขับเคลื่อนของกลุ่มคน และองค์การไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ที่วางไว้ ภาวะผู้นำจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคำว่า  พลัง   
                แนวคิดภาวะผู้นำทรงพลัง เกิดจากการวิจัยที่ยาวนานและพบว่า มีผู้นำเพียง ร้อยละ 20 เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จได้โดยอาศัยความเก่ง หรือเชาวน์ปัญญา ในขณะที่มีผู้นำร้อยละ 80 ประสบความสำเร็จเพราะมีความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดี (Goleman ,1998)
                เชาวน์ปัญญาที่ดีไม่อาจบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการทำงานเสมอไป หากไม่มีความสามารถทางเชาวน์อารมณ์เป็นส่วนประกอบด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ความเก่งงาน เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ หากยังต้องมี ความเก่งคน ประกอบด้วย  ปัญหาที่สร้างความยุ่งยากลำบากใจในการทำงาน จึงมักมาจากผู้ร่วมงานมากกว่าตัวงานจริง ๆ โดยเฉพาะในโลกของการทำงานปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มากที่ต้องติดต่อประสานงาน  ประสานความร่วมมือ เพื่อให้แต่ละฝ่ายขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย  อย่างไรก็ตามผู้นำที่ประสบความล้มเหลวในการทำงานส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญสูงมาก แต่มีจุดอ่อนในด้านเชาวน์อารมณ์ ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ และไม่ชอบการทำงานแบบร่วมมือประสาน หรือการทำงานเป็นทีม เชาวน์อารมณ์จึงช่วยให้มนุษย์คิดได้อย่างชาญฉลาด และมีความสุขกับความคิดอ่านมากขึ้น  ผู้ที่มีเชาวน์อารมณ์ที่ดี จะเป็นผู้ที่รู้จักใช้ความคิดอ่านเกี่ยวกับอารมณ์ของตน และของผู้อื่นให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อื่นเป็นสุขตนเองก็สบายใจ  เชาวน์อารมณ์จึงถือเป็นการเรียนรู้จักอารมณ์ความรู้สึกของตนให้ตระหนัก มีสติ รู้เท่าทันสาเหตุและความแปรผันด้านอารมณ์ของตน สามารถบริหารอารมณ์ของตนให้ไปในทางที่สร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย สร้างแรงจูงใจที่ดีให้แก่ตนเอง และผู้อื่น  
Boyatzis, McKee(2002) ได้ทำการวิจัยเป็นระยะเวลายาวนานและพบว่า ผู้นำที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ คือ ความตระหนักต่อตนเอง (Self  Awareness)  การบริหารจัดการตัวเอง (Self Management)  ความตระหนักสังคม (Social Awareness)  และ การบริหารความสัมพันธ์ (Relationship Management)  ลักษณะเหล่านี้สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดกับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ ผู้ตามได้ดีและยาวนาน  เขาเรียกภาวะผู้นำที่มีลักษณะนี้  ภาวะผู้นำทรงพลัง (Resonant Leadership)  ที่สำคัญ แนวคิดภาวะผู้นำทรงพลังมีความเชื่อมั่นว่า ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพสามารถฝึกฝนจนกลายเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมใหม่ที่มหัศจรรย์ได้
             ภาวะผู้นำทรงพลังประกอบด้วย องค์ประกอบหลัก 4 ระการของภาวะผู้นำทรงพลังประกอบด้วยพฤติกรรมหลักต่าง ๆ ดังนี้
             1.  การตระหนักในตนเอง (Self  Awareness)  ประกอบด้วย
                  1.1  การตระหนักในอารมณ์ของตนเอง
                  1.2  การตระหนักในจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง
                  1.3  ความมั่นใจฝนตนเอง
            2.  การบริหารจัดการตนเอง (Self  Management)  ประกอบก้วย
                2.1  การควบคุมอารมณ์ของตนเอง
                2.2  ความโปร่งใส
                2.3  การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง
                2.4  การมุ่งมั่นในความสำเร็จ
                2.5  การริเริ่ม  สร้างสรรค์
                2.6  การมองโลกในแง่ดี
          3.  การตระหนักต่อสังคม (Social  Awareness)ประกอบก้วย
               3.1  การเข้าใจผู้อื่น
               3.2  การตระหนักในบทบาทขององค์กรที่มีต่อสังคม
               3.3  การบริการ
          4.  การบริหารความสัมพันธ์(Relationship  Management)  ประกอบด้วย
               4.1  การสร้างแรงจูงใจ
              4.2   การสร้างอิทะพลเหนือผู้อื่น
              4.3  การสร้างผู้นำใหม่
             4.4  การเปฌนผู้นำการเปลี่ยนแปลง
             4.5  การบริหารความขัดแย้ง
             4.6  การสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ
             ดังนี้
การตระหนักต่อตนเอง เป็นความสามารถที่จะพิจารณาว่า ตนเองสามารถจัดการกับตนเองได้ดีเพียงใด การอ่านอารมณ์ของตนเอง  การเข้าใจถึงผลกะทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้อารมณ์  ผู้นำทรงพลังจะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี
การตระหนักในตนเอง สังเกตได้จาก การตระหนักในอารมณ์ของตนเอง การตระหนักในจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอ และความมั่นใจในตนเอง
เห็นได้ว่า  ความผิดพลาดในการทำงานส่วนใหญ่ เกิดจากการสื่อสารทั้งทางด้านร่างกายและการใช้คำพูด โดยเฉพาะคำพูด ที่สร้างความร้าวฉาน แตกแยกในองค์กรได้มากและยาวนาน ยากต่อการประสานให้กับกลับคืน   ส่งผลต่อการบริหารงานของผู้นำ  ดังนั้นผู้นำจะคิด จะพูดสิ่งใดต้องมีความตระหนักว่า คำพูดหรือพฤติกรรมนั้นจะส่งผลดี หรือเสีย
                การบริหารจัดการตัวเอง เป็นความสามารถในการบริหารจัดการตนเองได้อย่างเหมาะสม ผู้นำที่รู้จักจัดการกับตัวเองได้ดีและถูกต้อง จะรู้ถึงความสามารถของตนเอง ตลอดจนรู้ถึงข้อจำกัดในความเข้มแข็งที่ตนเองมีอยู่  ผู้นำประเภทนี้จะแสดงออกถึงความดีงามในการเรียนรู้ว่า สิ่งใดที่พวกเขาจำเป็นต้องพัฒนาให้ก้าวหน้า และยินดีในคำวิพากษ์ วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ และรู้ว่าจะเกิดผลอย่างไร   
                การบริหารจัดการตนเอง สังเกตได้จาก การควบคุมอารมณ์ตนเอง ความโปร่งใสและซื่อสัตย์สุจริต การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ความมุ่งมั่นในความสำเร็จ การริเริ่มร้างสรค์ และการมองโลกในแง่ดี
                การควบคุมอารมณ์ตนเอง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำ ผู้นำต้องควบคุมสติและอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในสภาวะที่ถูกต้องอยู่เสมอ ผู้นำที่มีความสามารถในการควบคุมตนเอง จะมีภาพพจน์ที่ดี และห่างไกลจากความชั่วร้าย   ความโปร่งใส ของผู้นำมาจากความซื่อสัตย์สุจริต และความจริงใจ โดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริต จะก่อให้เกิดความศรัทธาต่อตัวผู้นำ และนำไปสู่
การมีบารมีในที่สุด
 
ผู้นำที่สามารถปรับตัวได้ดีในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จะทำให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง  ความสามารถในการปรับตัวของผู้นำเริ่มจากการรับรู้และเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของบริบทแวดล้อมตลอดเวลา ผู้นำที่มีความเชื่อมั่นในผลสำเร็จจะมีมาตรฐานของตนเอง ที่จะขับเคลื่อนสู่การค้นหา พัฒนางานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งที่เป็นไปเพื่อตนเอง และองค์การโดยจะวางอยู่บนเป้าหมายที่มีคุณค่าและตรวจสอบได้  ความคิดริเริ่ม จะจับฉวยทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา พวกเขาจะไม่รีรอที่จะสร้างงานใหม่ แต่จะนำพาองค์การไปสู่การพัฒนา
ใหม่ ๆ อยู่เสมอ  ผู้นำที่มองโลกในแง่ดีจะหมุนตัวเองได้รอบ มองเห็นโอกาสมากกว่าการเอาโอกาสมาขัดขวางความก้าวหน้า ผู้นำประเภทนี้จะมองคนอื่นในแง่ดีเสมอ มีความปรารถนาดีกับทุกคน และมีความสามารถในการพิจารณาว่า แต่ละคนในองค์การสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกโอกาสหากพวกเขาได้รับการฝึกฝนที่ดี
การตระหนักต่อสังคม เป็นการพิจารณาว่าตนเองมีความสามารถในรับรู้และเข้าใจในอารมณ์ของผู้อื่น ตลอดจนเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยเพียงไร   การตระหนักต่อสังคมสังเกตได้จาก ความเอาใจใส่ ความตระหนักภายในองค์กร และการบริการ
                การร่วมรับรู้หรือความเอาใจใส่  เป็นการรับรู้ถึงอารมณ์ผู้อื่น  การเข้าใจในมุมมองของผู้อื่น การแสดงความสนใจต่อความกังวลของผู้อื่น ผู้นำที่มีการเอาใจใส่ มีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่น จะสามารถปรับตนเองให้เข้ากับระดับอารมณ์ที่หลากหลายจนเกิดเป็นสัญชาตญาณ โดยผู้นำประเภทนี้จะแสดงออกมาในรูปของการฟังอย่างตั้งใจ  อารมณ์ร่วมจะสามารถช่วยให้เกิดพลังทางความคิดทำให้เข้ากับผู้อื่นได้อย่างสนิทใจ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมาจากเบื้องหลังหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างไร
                ความตระหนักในองค์การ เป็นความสามารถในการอ่านแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้น
การทำความเข้าใจเครือข่ายการตัดสินใจ ผู้นำที่มีความฉลาด รู้เท่าทันสังคม สามารถกำหนดนโยบายได้อย่างรอบคอบ ชาญฉลาด สามารถค้นหาเครือข่ายความซับซ้อนของสังคมได้ และสามารถเข้าใจในพลังความสัมพันธ์  ผู้นำประเภทนี้จะเข้าใจพลังแห่งนโยบายของการทำงานในองค์การเท่า ๆ กับการชี้นำด้วยคุณค่าของคุณธรรมและจริยธรรมที่สำคัญผู้นำที่มีจิตเป็นสาธารณะจะใช้ความสามารถของตนเองส่งเสริมบรรยากาศเพื่อที่จะให้ทุกคนเข้าถึงเป้าหมายของการทำงานก่อให้เกิดความประทับใจต่อผู้ที่ได้ปฏิสัมพันธ์ด้วย เกิดความรักและทุ่มเทในงานที่ทำ
การบริหารความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการสร้างและดำรงความสัมพันธ์ของผู้อื่น ประกอบด้วย  ความเป็นผู้นำที่มีแรงบันดาลใจ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น การพัฒนาผู้อื่น  การบริหารความขัดแย้ง การสร้างเครือข่าย และการทำงานเป็นทีม 
                การบริหารความสัมพันธ์ สังเกตได้จาก การจูงใจ การสร้างอิทธิพลเหนือผู้อื่น การสร้างผู้นำใหม่ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบริหารความขัดแย้ง และการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ
ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ จะสามารถทำได้ด้วยพลังสองอย่างคือ การขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์ และความสอดประสานความรู้สึกของตัวเองกับผู้อื่น  ที่สามารถทำให้บุคคลอื่นเข้าร่วมเป็นองค์การและเป็นหมู่คณะตามที่เขาต้องการ ผู้นำประเภทนี้จะมอบสิ่งดี ๆ ให้คิดทุกวันพร้อมกับสามารถสร้างสรรค์ความสนุกสนาน ความท้าทายในการทำงานได้ตลอดเวลา ในขณะที่สามารถสร้างอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี   ผู้นำที่มีอิทธิพลสามารถชักนำและก่อให้เกิดพันธกิจระหว่างคนในองค์กรได้ตลอดเวลา    ผู้นำที่ยอมรับความสามารถของคนอื่นมาหว่านเพาะในจิตวิญญาณของตนเอง จะแสดงออกถึงการสนใจผู้อื่นอย่างจริงจังและจริงใจ  ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือและปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยความเข้าใจในเป้าหมาย เข้าในจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละคนและยังสามารถเป็นที่ปรึกษาและผู้สอนที่ดีอีก
                ผู้นำที่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกมาเป็นจิตสำนึก สามารถจะจดจำสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้  วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของผู้นำจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ผู้นำที่ขจัดความขัดแย้งได้ดีที่สุด คือผู้นำที่สามารถที่จะนำเอาผู้ตามทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ความแตกต่างทางความคิดแล้วค้นหาความคิดที่เป็นพื้นฐานของทุกคนมาวิเคราะห์ จากนั้นจะชักนำด้วยพลังแห่งความคิดของ
แต่ละคนสู่การร่วมคิดแสวงหาเหตุผลร่วมกัน              
                ผู้นำที่สามารถสร้างเครือข่ายได้ดี จะเป็นผู้ที่มีความเป็นมิตรกับทุกคน มองโลกแง่บวก   อย่างไรก็ตาม การสร้างเครือข่ายมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การรักษาเครือข่ายนั้นให้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่แสดงพลังออกมา ผู้นำที่นิยมชมชอบในการทำงานเป็นทีมจะสามารถชักนำทุกคนมาสู่ความกระตือรือร้น  และเสียสละเพื่อทีมงาน หมู่คณะ ทุกคนในทีมจะเสียสละเพื่อความก้าวหน้าของทีม ที่สำคัญทุกคนในหมู่คณะจะมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น เหนียวแน่นเป็นพันธะต่อกันแทนที่จะเป็นพันธะตามที่กฏระเบียบได้วางไว้
                ในการนำพาองค์การไปสู่ความสำเร็จ ต้องอาศัยพลังที่สำคัญคือ พลังความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไป องค์การมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในองค์การทั้งแบบสามัคคี และแบบแตกสามัคคี  ในองค์การที่ประสบความสำเร็จสูงสุดจะมีแต่ความสัมพันธ์แบบสามัคคี และใช้ความสัมพันธ์ด้านบวก ด้านดีต่อกัน แต่ละคนสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานด้วยจุดแข็งของตนและไปประสานกับจุดแข็งของเพื่อนร่วมงาน ทุกคนจะแปล่งประกายความเชื่อมั่นและความหวังใส่กัน  เคารพกัน เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือมีไมตรีต่อกัน จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์การที่จะบริหารความสัมพันธ์ในองค์การให้เป็นไปในด้านบวก ที่สำคัญต้องเรียนรู้ที่จะบริหารความสัมพันธ์กับขั้วตรงกันข้าม ให้เกิดความร่วมมือให้มากที่สุด เปรียบได้กับ วาทยากรที่ต้องควบคุมอารมณ์ของนักดนตรีให้บรรเลงเสียงเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งฉันใด ผู้นำก็จำเป็นต้องบริหารอารมณ์และความสัมพันธ์ของทุกคนในองค์การให้มีพลังร่วมพอที่จะขับเคลื่อนองค์การไปสู่ความสำเร็จได้
                จากองค์ประกอบของภาวะผู้นำทรงพลังที่กล่าวมาเห็นได้ว่าความตระหนักต่อตนเอง และการบริหารจัดการตนเอง เป็นสองปัจจัยแรกที่ผู้นำต้องพิจารณาว่า สามารถทำความเข้าใจ จัดการตนเองและจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดีเพียงไร ส่วนสององค์ประกอบหลังคือ ความตระหนักในสังคม และการบริหารความสัมพันธ์เป็นตัวบ่งชี้ว่า ผู้นำสามารถตระหนักและบริหารอารมณ์ของผู้อื่นได้อย่างไร  อย่างก็ตาม จากการวิจัย พบว่า ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส และมีความแหลมคมในวิสัยทัศน์เป็นคุณสมบัติของผู้นำที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ตามมีความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งในสังคมไทยก็มีตัวอย่างเชิงประจักษ์มากมาย โดยเฉพาะตัวอย่างของผู้นำทางการเมือง ที่เห็นได้ว่า  ผู้นำที่มีความซื่อสัตย์ จะได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สามารถครองใจและทรงพลังในการจูงใจอยู่เสมอ องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาจึงล้วนสนับสนุนต่อการพัฒนาภาวะผู้นำทรงพลังทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น