วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 1 มโนทัศน์เกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำ

                               ไม่มีกลุ่มหรือองค์กรใดไม่มีผู้นำและกลุ่มหรือองค์กรเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้นำเป็นสำคัญ
                              ผู้นำ และภาวะผู้นำ มีความแตกต่างกัน คำว่าผู้นำ หรือ Leader ปรากฎอยู่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ราวปี ค.ศ. 1300 (พ.ศ. 1843) หรือประมาณเจ็ดร้อยปีที่แล้ว แต่คำว่า ภาวะผู้นำ หรือ Leadership ปรากฏภายหลังประมาณปี ค.ศ. 1800 (พ.ศ. 2343) หรือประมาณสองร้อยปีที่แล้ว (ทองหล่อ เดชไทย, 2544)
                             ความหมายของผู้นำและภาวะผู้นำมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ผู้นำจะหมายถึงตัวบุคคลที่สามารถจูงใจให้คนในกลุ่ม หรือองค์กรรวมพลังกันปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มหรือองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพส่วนภาวะผู้นำจะหมายความถึง ความสามารถ หรือพฤติกรรมตลอดจนพลังของผู้นำที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มหรือผู้ตามเพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร
                                     ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอยู่หลายประการ จึงทำให้คนส่วนหนึ่งเชื่อว่าภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่ลี้ลับไม่อาจสัมผัสได้ แต่ Daft (2002 ) กลับมีความเห็นตรงกันข้าม เขาเชื่อว่าภาวะผู้นำสามารถสร้างขึ้นได้จากการใช้ความพยายามและการทำงานหนักของบุคคลนั้น                            Daft (2002)ได้สรุปไว้ว่า  ภาวะผู้นำสามารถพัฒนาได้ และการพัฒนานั้นแบ่งได้เป็น การพัฒนาความเป็นผู้นำ 4  ระยะ ดังนี้
                                ระยะที่ 1 ขั้นไม่รู้ตนเองและไม่มีความสามารถ เป็นระยะที่ผู้นั้นยังไม่รู้ตนเองและยังขาดความสามารถ ซึ่งหมายความว่า เขาผู้นั้นยังไม่มีความสามารถต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำ  และยังไม่รับรู้ว่าหรือทราบว่าตนเองยังขาดความสามารถดังกล่าว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยังไม่เคยพยายามที่จะเป็นผู้นำ เช่นเดียวกับการเล่นกีฬา ซึ่งในเบื้องต้น ผู้เล่นยังอาจไม่ทราบว่าตนเองเล่นได้ดีเพียงไร แค่ไหน จนเมื่อพยายามเล่นก็จะค้นพบความสามารถของตนเอง และรู้ว่าถ้าจะให้เล่นเป็นหรือเล่นดีกว่านี้ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือหรือปรับปรุงอย่างไรบ้าง  ทำนองเดียวกันการพัฒนาภาวะผู้นำ หากบุคคลนั้นรู้ว่าหากตนเองต้องการเป็นผู้นำ จำเป็นต้องเรียนรู้หรือปรับปรุงด้านใดบ้าง
                                ระยะที่ 2 รู้ตนเองแต่ไม่มีความสามารถ เป็นขั้นตอนที่บุคคลนั้นรับรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างถ้าต้องการเป็นผู้นำที่ดี ในขณะที่ยังคงขาดความสามารถของการเป็นผู้นำอยู่
                                ระยะที่ 3 รู้ตนเองและมีความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นรู้จุดอ่อนของตน จึงลงมือฝึกฝนปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาจนเกิดความสามารถที่เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำขึ้น เช่น เป็นผู้มีความสามารถด้านวิสัยทัศน์ สามารถโน้มน้าวจูงใจให้บุคคลอื่นยึดมั่นและผูกพันต่อวิสัยทัศน์นั้น มีความกล้าเสี่ยงที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ระยะที่ 3 จึงเป็นระยะที่บุคคลนั้นมีภาวะผู้นำแล้ว
                                ระยะที่ 4 ไม่รู้ตนเองแต่มีความสามารถ เป็นระยะสุดท้ายที่ทักษะที่ได้เรียนรู้ ถูกดูดซับจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลนั้นไปแล้วโดยอัตโนมัติ และสามารถดึงมันออกมาใช้อย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่รู้สึกตัว เช่น สามารถเกิดวิสัยทัศน์ขึ้นอย่างไม่ตั้งใจในลักษณะของการหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด
                             DuBrin (1998) เสนอว่า  ภาวะผู้นำสามารถพัฒนาได้โดยกระบวนการต่อไปนี้
1) การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการใช้การรับรู้ด้วยตนเองและการสร้างวินัยในตนเอง (Development Through Self Awareness and Self Discipline) ดังนี้
                                1.1) การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการใช้การรับรู้ด้วยตนเอง
                                        เป็นการหยั่งลึกหรือทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เพื่อการตัดสินใจที่ดีและถูกต้อง
1.2) การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการสร้างวินัยในตนเอง  
        เป็นการปฏิบัติตนด้วยการควบคุมตนเองให้สามารถปฏิบัติตามระเบียบหรือกฏเกณฑ์เพื่อบรรหมาที่วางไว้การสร้างวินัยในตนเองมีความจำเป็นเพราะเป็นสิ่งที่กำหนดให้กิจกรรมประจำวันของผู้นำอยู่ในกรอบที่เหมาะสม และส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และประสิทธิภาพการทำงาน
2) การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการให้การศึกษา ประสบการณ์ และการให้คำแนะนำจากผู้ที่มีอาวุโสกว่า (Development Through Education, Experience and Mentoring) ดังนี้
2.1)  ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์ในทางเดียวกับการบริหารเพื่อให้บรรลุผล
สำเร็จและสนับสนุนการปฏิบัติงานตำแหน่งของผู้นำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้จะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนระยะเวลาที่เป็นประสบการณ์ของผู้นำ และความสามารถของผู้นำในการประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้น
                                2.2) ประสบการณ์ หมายถึง ประสบการณ์ทำงานในอดีตที่มีบทบาทสำคัญใน
การตัดสินใจ ผู้นำที่มีประสบการณ์โดยทั่วไปเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ จะสามารถบรรลุผลสำเร็จ และขจัดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ ถือว่าเป็นข้อแนะนำที่ดีสำหรับผู้นำในอนาคตที่มาจากประสบการณ์
ที่สำคัญประสบการณ์จากภาวะผู้นำยังช่วยสร้างทักษะได้ด้วยตนเอง อนึ่ง ประสบการณ์ที่ได้รับอาจมาจากความร่วมมือในงาน (Work Associates) และลักษณะงาน (Task Characteristics) เป็นต้น
                                2.3) การได้รับคำแนะนำจากบุคคลที่อาวุโสกว่า  หมายถึง การที่ผู้ที่มีอาวุโสกว่ามีประสบการณ์มากกว่าช่วยเหลือผู้ร่วมงานที่มีอาวุโสน้อยกว่า โดยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือการกระตุ้นต่าง ๆ และการสอนงาน ซึ่งการสอนงานโดยทั่วไปมักเกิดจากความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ ที่มีพื้นฐานบนความชอบพอกันเป็นส่วนใหญ่
Ronya Banks (1997) ได้เขียนบทความเรื่อง 10 Ways to Improve Your Leadership” ซึ่งได้เสนอวิธีการ10 วิธี ในการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
                                1) มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนต่อตนเอง บุคคลอื่น ๆ และสังคม (Have a Clear Vision Yourself, Other and the World) ผู้นำต้องพึงระลึกไว้ว่า วิสัยทัศน์เป็นการสร้างความแตกต่างระหว่างผู้นำ เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นความคิด ประสบการณ์ และมุมมองต่อการบริหารจัดการองค์กรได้เป็นอย่างดี ดังนั้น  การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนได้ ผู้นำต้องถามตัวเองว่า ตนเองคือใคร มีจุดหมายในการดำเนินชีวิตอย่างไร มีความต้องการจะมีอิทธิพลต่อผู้อื่นอย่างไร มีความต้องการที่จะสนับสนุนตนเอง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือสังคมอย่างไร แล้วพยายามตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เพื่อนำไปสร้างวิสัยทัศน์ให้เกิดขึ้นจริง
                                2) รู้และนำจุดแข็งและพรสวรรค์ของตนเองไปใช้ (Know and Utilize Strength and Gift) แต่ละท่านมีพรสวรรค์ที่แตกต่างกันตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งยังมีจุดแข็งในการทำงาน และต่อ
การดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นผู้ นำต้องตระหนักถึงการนำเอาจุดแข็ง และพรสวรรค์ของตนมาใช้ในการทำงาน เพื่อที่จะช่วยให้กลายเป็นผู้นำที่น่าเกรงขามในที่สุด อนึ่ง Peter Drucker ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการแนะนำว่า ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาจุดแข็งของตนมากกว่าการปรับปรุงจุดอ่อน เพราะการทำให้จุดแข็งมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าการเสียเวลาไปกับการปรับปรุงจุดอ่อน
                                3) ดำเนินชีวิตด้วยศีลธรรมและคุณค่าของตน (Live of Accordance with Your Morals and Values) ผู้นำที่ไม่มีศีลธรรม รวมทั้งไม่มีศักดิ์ศรีในตนเอง เพราะมัวแต่มองเห็นว่าคุณค่าของตนเองมีค่าน้อยกว่าวัตถุสิ่งของที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต นับว่าเป็นผู้นำที่ไม่พึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้นำอีกมากที่ดำเนินชีวิตในลักษณะนี้ เพราะทนต่อความเย้ายวนของกิเลสไม่ได้   ผู้นำต้องระลึกไว้เสมอว่า ศีลธรรม คือ เกราะคุ้มกันไม่ให้สิ่งไม่ดีมา
กล้ำกราย  
4) นำผู้อื่นด้วยจิตใจที่กว้างขวางและมีเมตตา (Lead others with Inclusiveness and
Compassion) ผู้นำที่ดีต้องนึกถึงผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน ต้องรู้จักให้อภัยต่อผู้อื่นและให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ เช่น การให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์ ตลอดจนการมอบสิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ เป็นต้น
                                5) ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและทำตามแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม (Set Definitive Goal and Follow Concrete Action Plans) การพัฒนาทักษะเป้าหมายของผู้นำต้องเริ่มตั้งแต่ การ
ตั้งเป้าหมายในชีวิตของตนเองเสียก่อน โดยผู้บริหารต้องทราบจุดมุ่งหมายปลายทางของการทำงานและกำหนดแผนการที่จะบรรลุเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน ผู้นำที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง และเป้าหมายอย่างชัดเจนเปรียบเสมือนคนที่หลงอยู่ในป่า โดยไม่มีแผนที่หรือเข็มทิศ ซึ่งจะนำมาซึ่งอันตรายและการสูญเสีย
6) คงทัศนคติเชิงบวกไว้ (Maintain a Positive Attitude) ทัศคติเชิงบวกทำให้ผู้นำ
ไม่เกิดความเครียด และพร้อมที่จะเผชิญหน้าเพื่อแก้ปัญหาต่อไป การคิดบวก พูดบวก และทำบวก ช่วยสร้างสุขในเกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน  อย่างไรก็ตาม การคิดเชิงบวกต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่ทำแค่หลอกลวงตนเอง
7) พัฒนาทักษะการสื่อสาร (Improve Communication Skill) ทักษะการสื่อสาร
เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับผู้นำ  เพราะถ้าผู้นำไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานก็ไม่สามารถดำเนินไปในทิศทางที่พึงปรารถนาได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารทั้ง แบบวัจนภาษา และอวัจนภาษาให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสื่อสารที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในปัจจุบัน  ผู้นำต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ในการนำเสนองานหรือการประชุม การใช้อีเมล์และการใช้เครื่องใช้ในสำนักงานต่าง ๆ เป็นต้น
8) จูงใจผู้อื่นให้ทำในสิ่งที่ดีที่สุด (Motivate Others to Greatness) ผู้นำที่มี
ประสิทธิภาพสูงสุด คือ ผู้นำที่มีทีมงานที่แข็งแกร่ง  การได้มาซึ่งทีมงานที่ดีนั้น ผู้นำจะต้องสร้างแรงจูงใจที่จะกระตุ้นให้คนเหล่านั้นอยากทำงาน และพร้อมที่จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การ  การจูงใจต้องทำทั้งภายนอกและภายใน คือ การให้รางวัลสิ่งตอบแทน (ภายนอก) การชมเชย (ภายใน)  การให้ความสำคัญ การให้โอกาสตัดสินใจ และการมอบอำนาจ เป็นต้น  โดยผู้บริหารต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกแต่ละคน
9) เต็มใจที่จะยอมรับ และเรียนรู้จากความล้มเหลวและจุดอ่อนของตน (Be Wiling
to Admit and Learn from Failures and Weaknesses) ทุกคนเกิดมาไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ  ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเองทั้งด้านเด่น ด้านด้อย ความล้มเหลวที่ผ่านมาจะเป็นภูมิต้านทานที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น ผู้นำต้องระลึกไว้เสมอว่า ก่อนที่จะประสบความสำเร็จต้องล้มเหลวก่อน ดังนั้น ผู้นำต้องรู้จักอดทน อดกลั้น ต่อความล้มเหลวของตัวเอง และพยายามปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
10) ใฝ่รู้และปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง (Continue to Educate and Improve Yourself) ผู้นำที่ดีต้องใฝ่รู้ตลอดเวลา ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ทำให้คนเราฉลาดมากขึ้น และนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ในการทำงาน
                 อย่างไรก็ตาม  ตลอดเวลาที่ผ่านมาเห็นได้ว่าความหมายของผู้นำ  ภาวะผู้นำ  ตลอดจนการพัฒนาภาวะผู้นำจึงมีความเป็นพลวัต  แหละนี่ เสน่ห์ของการศึกษาเกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำที่มีองค์ความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น