วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง : ตอนที่ 1 นกอินทรีย์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

                   

                       ไม่น่าเชื่อว่าสัตว์อย่างนกอินทรีย์จะสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าประทับใจโดยปกติแล้ว นกอินทรีย์จะมีชีวิตยืนยาวมากประมาณ70ปี แต่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองแสนสาหัสกว่าจะได้ผงาดบนผืนฟ้าอีกครั้งหนึ่ง
                     เมื่อนกอินทรีย์ใช้ชีวิตมาได้ประมาณ 30 ปี จงอยปากก็จะถูกสะสมด้วยหินปูน จงอยปากที่เคยแหลมคม บัดนี้เริ่มโค้งงอ ยากต่อการใฃ้งานในการจับเหยื่ออีกต่อไป อีกทั้งปีกและขนที่เพิ่มขึ้นทำให้ตัวมีน้ำหนักเพิ่ม ยากต่อการบินในอากาศทางเลือกของนกอินทรีย์จึงมีอยู่ 2 ทาง ทางที่ 1 ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ซึ่งแน่นอนคงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ด้วยหากินลำบาก และตกเป็นเหยื่อในการล่าได้ง่ายเพราะบินได้ช้าและไม่สูงดังเดิมหากต้องการมีชีวิตอยู่จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมหาศาล
หากเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ นกอินทรีย์จะบินไปบนยอดเขาสูง ใช้จงอยปากที่โค้งงอ เต็มไปด้วยหินปูนถูกับผนังถ้ำ จนได้จงอยปากใหม่ที่แหลมคม จิกเหยื่อได้ดังใจในขณะเดียวกันก็จะใช้จงอยปากจิกขนตัวเองออกไปที่ละแผง เพื่อให้เกิดขนใหม่ที่บางเบา บินได้ง่ายขึ้นซึ่งสร้างความเจ็บปวดไม่น้อยกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ใช้เวลาประมาณ 150วัน นกอินทรีย์ก็จะได้ชีวิตใหม่ที่สามารถมีชีวิตยืนยาวถึง 70ปีทีเดียว
                        นกอินทรีย์ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่ประสบความสำเร็จ ยอมเจ็บปวดบ้างในบางช่วงเพื่อจะได้ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิมหากคนเราจะเอาอย่างนกอินทรีย์บ้าง ยอมปรับ/พัฒนาตนเอง ยอมทิ้งนิสัยที่ไม่ดีออกไปบ้าง แม้ว่าจะทำได้ยาก หากแต่เมื่อทำสำเร็จก็จะมีชีวิตใหม่ที่ดีอย่างนกอินทรีย์แน่นอน

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 7 ภาวะผู้นำทรงพลังกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ภาวะผู้นำเป็นพลังในการจูงใจคนให้ทำงานไปสู่ความสำเร็จ  เป็นพลังที่ผู้นำต้องพัฒนา และรู้วิธีที่จะรักษาพลังนั้นไว้ให้คงอยู่และทรงพลังอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตลอดของสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และจิตภาพ ที่ตกต่ำก่อให้เกิดความเครียด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ผู้บริหารและครูต้องเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงความตกต่ำทางการศึกษาทำให้เกิดประเด็นใหม่ ๆ ทางการศึกษามากมาย  ที่ต้องการคลี่คลายและ แก้ปัญหา   สภาวการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา ในฐานะผู้นำองค์การต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อนำพาองค์การให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้  ก่อให้เกิดความเครียด ความอ่อนล้า เหนื่อยหน่าย  กังวล ก่อให้เกิดภาวะอ่อนแรง อันส่งผลต่อการประสิทธิภาพการทำงานโดยภาพรวม   ในขณะที่ไม่มี ผู้ใด หรือสัญญาณใด ๆ บอกได้ว่าสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดเหล่านี้จะยุติลงเมื่อใดซึ่งหมายความว่าผู้บริหารสถานศึกษาครู  และบุคลากรทางการศึกษาต้องจมอยู่กับความหวาดกลัว  ความเครียด ความอ่อนล้าอย่างไม่มีสิ้นสุด สถานการณ์ดังกล่าวนี้จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการพัฒนาผู้บริหารในฐานะผู้นำองค์การให้เกิดการเรียนรู้ที่จะสามารถทรงพลังของตนเองไว้เพื่อจะได้สามารถส่งพลังดังกล่าวไปยังบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในองค์กรของตนเองหรือชุมชนรายรอบและสังคมโดยภาพรวม
การสร้างพลังในการนำไม่ใช่เรื่องง่าย และการคงสภาพพลังเหล่านั้นไว้ก็เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในสภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ความกดดันเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดความเครียด ความอ่อนล้าและความเปล่าเปลี่ยวขึ้นกับผู้นำ ทั้งนี้เห็นได้ว่า ความเป็นผู้นำเป็นเรื่องของการใช้พลังและการโน้มน้าวจูงใจผู้อื่น ซึ่งพลังนี้ก็สามารถก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างบุคคลขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้เองผู้นำจึงมักโดนตัดขาดออกจากกลุ่ม และถูกตัดออกจากความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยสิ้นเชิง ในขณะเดียวกัน ร่างกายของคนเราก็ไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดการกับแรงกดดันที่ต่อเนื่องและยาวนาน สภาวะดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดภาวะอ่อนแรง กับผู้นำขึ้นได้ทุกเวลา แม้ว่า  ภาวะอ่อนแรงจะเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้นำ เนื่องจากอารมณ์ของคนเราเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดกันได้ ดังนั้น ความอ่อนล้าหรือภาวะหมดพลังจึงสามารถระบาดหรือถ่ายทอดไปยังบุคคลที่รอบ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งครอบงำไปทั่วองค์การ
เช่นเดียวกันกับภาวะอ่อนแรง ภาวะทรงพลังก็สามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้เช่นกัน หากผู้นำเปี่ยมไปด้วยภาวะทรงพลัง มีความตื่นเต้น ความหวัง ผู้ตามจะรู้สึกมีพลังและแรงจูงใจตามไปด้วย ผู้นำทรงพลังจึงต้องตื่นตัว ตระหนัก และปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับผู้อื่นและสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวเองเสมอ ผู้นำทรงพลังจะต้องสร้างวิสัยทัศน์ การมองโลกในแง่ดี และเปี่ยมไปด้วยความหวังอยู่เสมอ ภาวะผู้นำทรงพลังจึงเป็นภาวะผู้นำที่เหมาะสมสำหรับบริบทในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่ผู้นำต้องสนธิพลังในตนเอง ทั้งทางด้านกายภาพ จิตวิญญาณและพลังทางปัญญา เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นผู้นำพันธุ์ใหม่ที่แข็งแรง เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างที่ดี น่าเลื่อมใส เปี่ยมด้วยบารมี ที่สามารถปฎิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ ประสานความคิด  ประสานสัมพันธ์ ประสานใจ และประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างมิติใหม่ในการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติต่อไป

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 6 การพัฒนาสู่ภาวะผู้นำทรงพลัง

ดังได้กล่าวแล้วว่า แนวคิดภาวะผู้นำทรงพลัง อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ภาวะผู้นำนั้นสามารถพัฒนาและฝึกฝนได้ เพียงแต่ผู้นำเหล่านั้นจะให้ความสำคัญในการฝึกฝนมากน้อยเพียงไร กระบวนการพัฒนาตนเองสู่การเป็นภาวะผู้นำทรงพลัง ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ  5 ขั้นตอน ดังนี้ (Boyatzis and McKee, 2005)
1) การวิเคราะห์ตัวตนในอุดมคติ ในขั้นตอนนี้ ผู้นำต้องวิเคราะห์ตนเองว่า  ต้องการอะไรจากชีวิต  เป้าหมายของชีวิต คืออะไร  ที่สำคัญ ในการวิเคราะห์ตัวตนในอุดมคติต้องกล้าที่ฝัน กล้าจินตนาการ เพื่อสรุปให้ได้ว่า ภาพลักษณ์ใหม่ที่ผู้นำต้องการจะเป็น มีลักษณะเป็นอย่างไร  ใน
การวิเคราะห์ตัวตนในอุดมคติ ผู้นำต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า  ตนต้องการจะเป็นผู้นำแบบใด  มีใครเป็นแรงบันดาลใจหรือต้นแบบในใจ การวิเคราะห์ตัวตนในอุดมคติจึงเป็นก้าวแรกของ
การก้าวสู่ภาวะนำทรงพลัง ที่มีความฝันและจินตนาการเป็นตัวผลักดัน ผู้นำจึงไม่ควรเฉยชากับความฝันและความมุ่งมั่นของตนเอง
2) การวิเคราะห์ตัวตนที่แท้จริง ในการการวิเคราะห์ตัวตนที่แท้จริง  ต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างมาก ผู้นำต้องวิเคราะห์อย่างตรงไป ตรงมา และอาจจะต้องอาศัยความเห็นของผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิด หรืออาศัยผลการประเมินด้วยวิธี 360 องศา  หรือนำกระบวนการ SWOT Analysis  ที่ใช้ในการวิเคราะห์องค์การมาใช้ในการวิเคราะห์ตัวบุคคลเพื่อหาจุดแข็ง จุดดีของตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับ  ค้นหาจุดอ่อนหรือประเด็นที่ต้องแก้ไข  ตลอดจนวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้   ซึ่งหลายหน่วยงานก็ได้นำไปประยุกต์ใช้กับเจ้าหน้าที่
                เมื่อผ่านการวิเคราะห์ตัวตนในอุดมคติ และตัวตนที่แท้จริงแล้ว ข้อมูลที่ผู้นำได้มา คือ ระยะห่างระหว่างตัวตนในอุดมคติ และตัวตนที่แท้จริง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข ในขณะที่ต้องไม่ลืมจุดแข็งที่เป็นจุดทับซ้อนระหว่างตัวตนในอุดมคติกับตัวตนที่แท้จริงและเป็นจุดที่ต้องพัฒนาให้เข้มแข็งต่อไป
3) แผนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจุดแข็ง ผู้นำที่ผ่านขั้นตอนที่ 1 และ 2 มาถึงขั้นที่ 3 ได้ จะเป็นผู้นำที่มีความตั้งใจจริง เพราะในความเป็นจริงแล้วทุกคนรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตนเองอยู่แล้ว แต่ไม่เข้มแข็งพอที่จะกำจัดจุดอ่อน และไม่ใส่ใจที่จะพัฒนาจุดแข็งของตนเองให้สู่ความเชี่ยวชาญ  การพัฒนาจึงไม่เกิดขึ้น ผู้นำเหล่านั้นก็จะอยู่กับที่ และรอวันที่อ่อนโรยไปกับกาลเวลาและสถานการณ์  ในขณะที่ผู้นำที่ตั้งใจจริงจะมีแผนเรียนรู้ที่พัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ในตัวตนอุดมคติที่อยากเป็นได้
4) การฝึกฝนนิสัยใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่นำไปสู่ตัวตนในอุดมคติ เช่น อยากเป็นผู้นำที่รอบรู้ มีวิสัยทัศน์ที่เฉียบขาด ก็ต้องเป็นนักอ่าน นักคิด และแสวงหาเวทีที่จะได้แสดงวิสัยทัศน์นั้นออกไปให้สังคมได้รับรู้ และวิพากษ์ เพื่อจะได้นำมาแก้ไขจุดอ่อนต่อไป
5) การพัฒนาพฤติกรรมไปสู่ความเชี่ยวชาญ เป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่จะก้าวไปสู่ภาวะผู้นำทรงพลัง  เพราะเริ่มที่จะมีผู้คนแสดงอาการยอมรับในความเชี่ยวชาญที่ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เหล่านี้เองที่จะเป็นพลังในการจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตาม สภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ ความเป็นผู้นำที่แท้จริง
ภาวะผู้นำทรงพลัง จึงไม่ใช่สภาพที่คงที่ หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากแต่ สามารถสร้างขึ้น หรือถดถอยลงได้ หากผู้นำเหล่านั้นไม่สนใจที่รักษาไว้  ที่สำคัญ หัวใจของการพัฒนาภาวะผู้นำคือ การลงมือปฏิบัติ   สถาบันในประเทศไทยเองได้จัดให้มีรายวิชา และหลักสูตรอบรมการพัฒนาภาวะผู้นำมากมาย แต่มักจะจบด้วยเนื้อหาสาระมากกว่าการลงมือปฏิบัติ  ผู้เรียนหรือผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนรู้ว่า ผู้นำที่ดีมีลักษณะอย่างไร แต่ไม่สามารถนำพาตนเองไปสู่จุดนั้นได้เพราะขาดการฝึกฝน ขาดการปฏิบัติที่จริงจัง ภาวะผู้นำจึงอยู่ในสภาพที่ถดถอยและไร้พลังในที่สุด

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 5 แบบแผนพฤติกรรมของผู้นำทรงพลัง

ผู้นำทรงพลังจะแสดงพฤติกรรมออกมาใน 4 รูปแบบ ดังนี้ Boyatzis, McKee (2002) และ Aung Tun Thet (2004)
                                1) แบบให้วิสัยทัศน์ (Visionary) ผู้นำที่ให้วิสัยทัศน์จะชี้จุดหมายที่องค์การจะเดินไป แต่ไม่บอกว่าจะไปถึงจุดหมายนั้นได้ โดยวิธีใด โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกได้คิดริเริ่ม ทดลอง และรับการเสี่ยงที่ควบคุมได้ ความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจแก่คนอื่น (Inspirational  Leadership) คือ ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ที่ผู้นำประเภทนี้ต้องมีคือความสามารถใน
การส่งเสริมผู้อื่น
(Developing Others)รู้จักอารมณ์ของตนเอง (Emotional Awareness) และความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)
                                2) แบบครูฝึก (Coaching) เป็นศิลปะของการเป็นผู้นำแบบตัวต่อตัว ผู้นำแบบครูฝึกจะทำให้คนอื่นค้นพบจุดอ่อนและจุดแข็งของตน และเชื่อมโยงจุดอ่อนและจุดแข็งเหล่านั้นกับความใฝ่ฝันทั้งด้านส่วนตัวและอาชีพ ทักษะทางเชาว์อารมณ์ที่ผู้นำประเภทนี้ต้องมีคือความสามารถในการส่งเสริมผู้อื่น (Developing Others) รู้จักอารมณ์ของตนเอง (Emotional Awareness) และความเห็นอกเห็นใจ(Empathy)
                                3) แบบส่งเสริมความร่วมมือ (Affiliative) ผู้นำประเภทนี้เป็นตัวอย่างของการใช้ทักษะทางฉลาดทางอารมณ์ว่าด้วยการร่วมมือ (Collaboration) ในทางปฏิบัติสิ่งที่ผู้นำประเภทนี้ให้ความสำคัญที่สุดคือการส่งเสริมความสมานฉันท์ และการมีความสัมพันธ์อย่างเป็นมิตร เขาจะเน้นเอาใจใส่ความต้องการด้านอารมณ์ของบุคลากรด้วยการใช้ทักษะความเห็นอกเห็นใจ
                                4) แบบประชาธิปไตย (Democratic) ผู้นำแบบประชาธิปไตยใช้ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ 3 ประการ คือ การทำงานเป็นทีมและการร่วมมือ (Teamwork and Collaboration)
การบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management) และการสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่น (Influence) ผู้นำประเภทนี้เป็นนักฟังที่ยอดเยี่ยมและเป็นนักให้ความร่วมมือตัวจริง เขารู้วิธีบรรเทาความขัดแย้งและสร้างความ สมานฉันท์ ทักษะอีกประการที่เขาใช้ คือความเห็นอกเห็นใจ

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 4 แนวคิดและองค์ประกอบของภาวะผู้นำทรงพลัง

ผู้นำ เป็นบุคคลที่ได้มีโอกาสนำ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะได้นำเพระการสืบทอดหรือการแต่งตั้งตามกฎหมายก็ตาม  ในขณะที่ ภาวะผู้นำ หมายถึง ความสามารถในการนำ หน้าที่สำคัญของผู้นำ คือ การสร้างแรงจูงใจต่อการทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถให้เกิดขึ้นกับใต้บังคับบัญชา หรือผู้ตาม  พร้อม ๆ ไปกับ การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์การ 
ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอยู่หลายประการ จึงทำให้คนส่วนหนึ่งเชื่อว่า  ภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่ลี้ลับไม่อาจสัมผัสได้  ในขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งกลับเชื่อว่า ภาวะผู้นำสามารถพัฒนาขึ้นได้จากการใช้ความพยายามและการฝึกฝนอย่างหนักของบุคคลนั้น อย่างไรก็ตาม ภาวะผู้นำของแต่ละบุคคล  แม้ไม่สามารถวัดได้โดยตรง และไม่สามารถแสดงระดับความสามารถออกมาเป็นตัวเลขได้ หากแต่  เป็นที่ยอมรับว่า  ไม่มีใครมีภาวะผู้นำเป็นศูนย์  ภาวะผู้นำ จะสามารถแสดงออกได้ หากเขาเหล่านั้น ได้มีโอกาสในการนำ   ยิ่งงานยาก งานมาก งานใหญ่ ยิ่งต้องการภาวะผู้นำที่สูงขึ้นตามไปด้วย ภาวะผู้นำ จึงเปรียบเสมือนพลังของผู้นำที่สามารถส่งแรงกระทำอันก่อให้เกิดการขับเคลื่อนของกลุ่มคน และองค์การไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ที่วางไว้ ภาวะผู้นำจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคำว่า  พลัง   
                แนวคิดภาวะผู้นำทรงพลัง เกิดจากการวิจัยที่ยาวนานและพบว่า มีผู้นำเพียง ร้อยละ 20 เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จได้โดยอาศัยความเก่ง หรือเชาวน์ปัญญา ในขณะที่มีผู้นำร้อยละ 80 ประสบความสำเร็จเพราะมีความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดี (Goleman ,1998)
                เชาวน์ปัญญาที่ดีไม่อาจบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการทำงานเสมอไป หากไม่มีความสามารถทางเชาวน์อารมณ์เป็นส่วนประกอบด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ความเก่งงาน เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ หากยังต้องมี ความเก่งคน ประกอบด้วย  ปัญหาที่สร้างความยุ่งยากลำบากใจในการทำงาน จึงมักมาจากผู้ร่วมงานมากกว่าตัวงานจริง ๆ โดยเฉพาะในโลกของการทำงานปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มากที่ต้องติดต่อประสานงาน  ประสานความร่วมมือ เพื่อให้แต่ละฝ่ายขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย  อย่างไรก็ตามผู้นำที่ประสบความล้มเหลวในการทำงานส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญสูงมาก แต่มีจุดอ่อนในด้านเชาวน์อารมณ์ ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ และไม่ชอบการทำงานแบบร่วมมือประสาน หรือการทำงานเป็นทีม เชาวน์อารมณ์จึงช่วยให้มนุษย์คิดได้อย่างชาญฉลาด และมีความสุขกับความคิดอ่านมากขึ้น  ผู้ที่มีเชาวน์อารมณ์ที่ดี จะเป็นผู้ที่รู้จักใช้ความคิดอ่านเกี่ยวกับอารมณ์ของตน และของผู้อื่นให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อื่นเป็นสุขตนเองก็สบายใจ  เชาวน์อารมณ์จึงถือเป็นการเรียนรู้จักอารมณ์ความรู้สึกของตนให้ตระหนัก มีสติ รู้เท่าทันสาเหตุและความแปรผันด้านอารมณ์ของตน สามารถบริหารอารมณ์ของตนให้ไปในทางที่สร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย สร้างแรงจูงใจที่ดีให้แก่ตนเอง และผู้อื่น  
Boyatzis, McKee(2002) ได้ทำการวิจัยเป็นระยะเวลายาวนานและพบว่า ผู้นำที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ คือ ความตระหนักต่อตนเอง (Self  Awareness)  การบริหารจัดการตัวเอง (Self Management)  ความตระหนักสังคม (Social Awareness)  และ การบริหารความสัมพันธ์ (Relationship Management)  ลักษณะเหล่านี้สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดกับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ ผู้ตามได้ดีและยาวนาน  เขาเรียกภาวะผู้นำที่มีลักษณะนี้  ภาวะผู้นำทรงพลัง (Resonant Leadership)  ที่สำคัญ แนวคิดภาวะผู้นำทรงพลังมีความเชื่อมั่นว่า ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพสามารถฝึกฝนจนกลายเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมใหม่ที่มหัศจรรย์ได้
             ภาวะผู้นำทรงพลังประกอบด้วย องค์ประกอบหลัก 4 ระการของภาวะผู้นำทรงพลังประกอบด้วยพฤติกรรมหลักต่าง ๆ ดังนี้
             1.  การตระหนักในตนเอง (Self  Awareness)  ประกอบด้วย
                  1.1  การตระหนักในอารมณ์ของตนเอง
                  1.2  การตระหนักในจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง
                  1.3  ความมั่นใจฝนตนเอง
            2.  การบริหารจัดการตนเอง (Self  Management)  ประกอบก้วย
                2.1  การควบคุมอารมณ์ของตนเอง
                2.2  ความโปร่งใส
                2.3  การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง
                2.4  การมุ่งมั่นในความสำเร็จ
                2.5  การริเริ่ม  สร้างสรรค์
                2.6  การมองโลกในแง่ดี
          3.  การตระหนักต่อสังคม (Social  Awareness)ประกอบก้วย
               3.1  การเข้าใจผู้อื่น
               3.2  การตระหนักในบทบาทขององค์กรที่มีต่อสังคม
               3.3  การบริการ
          4.  การบริหารความสัมพันธ์(Relationship  Management)  ประกอบด้วย
               4.1  การสร้างแรงจูงใจ
              4.2   การสร้างอิทะพลเหนือผู้อื่น
              4.3  การสร้างผู้นำใหม่
             4.4  การเปฌนผู้นำการเปลี่ยนแปลง
             4.5  การบริหารความขัดแย้ง
             4.6  การสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ
             ดังนี้
การตระหนักต่อตนเอง เป็นความสามารถที่จะพิจารณาว่า ตนเองสามารถจัดการกับตนเองได้ดีเพียงใด การอ่านอารมณ์ของตนเอง  การเข้าใจถึงผลกะทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้อารมณ์  ผู้นำทรงพลังจะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี
การตระหนักในตนเอง สังเกตได้จาก การตระหนักในอารมณ์ของตนเอง การตระหนักในจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอ และความมั่นใจในตนเอง
เห็นได้ว่า  ความผิดพลาดในการทำงานส่วนใหญ่ เกิดจากการสื่อสารทั้งทางด้านร่างกายและการใช้คำพูด โดยเฉพาะคำพูด ที่สร้างความร้าวฉาน แตกแยกในองค์กรได้มากและยาวนาน ยากต่อการประสานให้กับกลับคืน   ส่งผลต่อการบริหารงานของผู้นำ  ดังนั้นผู้นำจะคิด จะพูดสิ่งใดต้องมีความตระหนักว่า คำพูดหรือพฤติกรรมนั้นจะส่งผลดี หรือเสีย
                การบริหารจัดการตัวเอง เป็นความสามารถในการบริหารจัดการตนเองได้อย่างเหมาะสม ผู้นำที่รู้จักจัดการกับตัวเองได้ดีและถูกต้อง จะรู้ถึงความสามารถของตนเอง ตลอดจนรู้ถึงข้อจำกัดในความเข้มแข็งที่ตนเองมีอยู่  ผู้นำประเภทนี้จะแสดงออกถึงความดีงามในการเรียนรู้ว่า สิ่งใดที่พวกเขาจำเป็นต้องพัฒนาให้ก้าวหน้า และยินดีในคำวิพากษ์ วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ และรู้ว่าจะเกิดผลอย่างไร   
                การบริหารจัดการตนเอง สังเกตได้จาก การควบคุมอารมณ์ตนเอง ความโปร่งใสและซื่อสัตย์สุจริต การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ความมุ่งมั่นในความสำเร็จ การริเริ่มร้างสรค์ และการมองโลกในแง่ดี
                การควบคุมอารมณ์ตนเอง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำ ผู้นำต้องควบคุมสติและอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในสภาวะที่ถูกต้องอยู่เสมอ ผู้นำที่มีความสามารถในการควบคุมตนเอง จะมีภาพพจน์ที่ดี และห่างไกลจากความชั่วร้าย   ความโปร่งใส ของผู้นำมาจากความซื่อสัตย์สุจริต และความจริงใจ โดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริต จะก่อให้เกิดความศรัทธาต่อตัวผู้นำ และนำไปสู่
การมีบารมีในที่สุด
 
ผู้นำที่สามารถปรับตัวได้ดีในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จะทำให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง  ความสามารถในการปรับตัวของผู้นำเริ่มจากการรับรู้และเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของบริบทแวดล้อมตลอดเวลา ผู้นำที่มีความเชื่อมั่นในผลสำเร็จจะมีมาตรฐานของตนเอง ที่จะขับเคลื่อนสู่การค้นหา พัฒนางานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งที่เป็นไปเพื่อตนเอง และองค์การโดยจะวางอยู่บนเป้าหมายที่มีคุณค่าและตรวจสอบได้  ความคิดริเริ่ม จะจับฉวยทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา พวกเขาจะไม่รีรอที่จะสร้างงานใหม่ แต่จะนำพาองค์การไปสู่การพัฒนา
ใหม่ ๆ อยู่เสมอ  ผู้นำที่มองโลกในแง่ดีจะหมุนตัวเองได้รอบ มองเห็นโอกาสมากกว่าการเอาโอกาสมาขัดขวางความก้าวหน้า ผู้นำประเภทนี้จะมองคนอื่นในแง่ดีเสมอ มีความปรารถนาดีกับทุกคน และมีความสามารถในการพิจารณาว่า แต่ละคนในองค์การสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกโอกาสหากพวกเขาได้รับการฝึกฝนที่ดี
การตระหนักต่อสังคม เป็นการพิจารณาว่าตนเองมีความสามารถในรับรู้และเข้าใจในอารมณ์ของผู้อื่น ตลอดจนเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยเพียงไร   การตระหนักต่อสังคมสังเกตได้จาก ความเอาใจใส่ ความตระหนักภายในองค์กร และการบริการ
                การร่วมรับรู้หรือความเอาใจใส่  เป็นการรับรู้ถึงอารมณ์ผู้อื่น  การเข้าใจในมุมมองของผู้อื่น การแสดงความสนใจต่อความกังวลของผู้อื่น ผู้นำที่มีการเอาใจใส่ มีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่น จะสามารถปรับตนเองให้เข้ากับระดับอารมณ์ที่หลากหลายจนเกิดเป็นสัญชาตญาณ โดยผู้นำประเภทนี้จะแสดงออกมาในรูปของการฟังอย่างตั้งใจ  อารมณ์ร่วมจะสามารถช่วยให้เกิดพลังทางความคิดทำให้เข้ากับผู้อื่นได้อย่างสนิทใจ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมาจากเบื้องหลังหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างไร
                ความตระหนักในองค์การ เป็นความสามารถในการอ่านแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้น
การทำความเข้าใจเครือข่ายการตัดสินใจ ผู้นำที่มีความฉลาด รู้เท่าทันสังคม สามารถกำหนดนโยบายได้อย่างรอบคอบ ชาญฉลาด สามารถค้นหาเครือข่ายความซับซ้อนของสังคมได้ และสามารถเข้าใจในพลังความสัมพันธ์  ผู้นำประเภทนี้จะเข้าใจพลังแห่งนโยบายของการทำงานในองค์การเท่า ๆ กับการชี้นำด้วยคุณค่าของคุณธรรมและจริยธรรมที่สำคัญผู้นำที่มีจิตเป็นสาธารณะจะใช้ความสามารถของตนเองส่งเสริมบรรยากาศเพื่อที่จะให้ทุกคนเข้าถึงเป้าหมายของการทำงานก่อให้เกิดความประทับใจต่อผู้ที่ได้ปฏิสัมพันธ์ด้วย เกิดความรักและทุ่มเทในงานที่ทำ
การบริหารความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการสร้างและดำรงความสัมพันธ์ของผู้อื่น ประกอบด้วย  ความเป็นผู้นำที่มีแรงบันดาลใจ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น การพัฒนาผู้อื่น  การบริหารความขัดแย้ง การสร้างเครือข่าย และการทำงานเป็นทีม 
                การบริหารความสัมพันธ์ สังเกตได้จาก การจูงใจ การสร้างอิทธิพลเหนือผู้อื่น การสร้างผู้นำใหม่ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบริหารความขัดแย้ง และการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ
ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ จะสามารถทำได้ด้วยพลังสองอย่างคือ การขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์ และความสอดประสานความรู้สึกของตัวเองกับผู้อื่น  ที่สามารถทำให้บุคคลอื่นเข้าร่วมเป็นองค์การและเป็นหมู่คณะตามที่เขาต้องการ ผู้นำประเภทนี้จะมอบสิ่งดี ๆ ให้คิดทุกวันพร้อมกับสามารถสร้างสรรค์ความสนุกสนาน ความท้าทายในการทำงานได้ตลอดเวลา ในขณะที่สามารถสร้างอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี   ผู้นำที่มีอิทธิพลสามารถชักนำและก่อให้เกิดพันธกิจระหว่างคนในองค์กรได้ตลอดเวลา    ผู้นำที่ยอมรับความสามารถของคนอื่นมาหว่านเพาะในจิตวิญญาณของตนเอง จะแสดงออกถึงการสนใจผู้อื่นอย่างจริงจังและจริงใจ  ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือและปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยความเข้าใจในเป้าหมาย เข้าในจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละคนและยังสามารถเป็นที่ปรึกษาและผู้สอนที่ดีอีก
                ผู้นำที่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกมาเป็นจิตสำนึก สามารถจะจดจำสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้  วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของผู้นำจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ผู้นำที่ขจัดความขัดแย้งได้ดีที่สุด คือผู้นำที่สามารถที่จะนำเอาผู้ตามทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ความแตกต่างทางความคิดแล้วค้นหาความคิดที่เป็นพื้นฐานของทุกคนมาวิเคราะห์ จากนั้นจะชักนำด้วยพลังแห่งความคิดของ
แต่ละคนสู่การร่วมคิดแสวงหาเหตุผลร่วมกัน              
                ผู้นำที่สามารถสร้างเครือข่ายได้ดี จะเป็นผู้ที่มีความเป็นมิตรกับทุกคน มองโลกแง่บวก   อย่างไรก็ตาม การสร้างเครือข่ายมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การรักษาเครือข่ายนั้นให้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่แสดงพลังออกมา ผู้นำที่นิยมชมชอบในการทำงานเป็นทีมจะสามารถชักนำทุกคนมาสู่ความกระตือรือร้น  และเสียสละเพื่อทีมงาน หมู่คณะ ทุกคนในทีมจะเสียสละเพื่อความก้าวหน้าของทีม ที่สำคัญทุกคนในหมู่คณะจะมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น เหนียวแน่นเป็นพันธะต่อกันแทนที่จะเป็นพันธะตามที่กฏระเบียบได้วางไว้
                ในการนำพาองค์การไปสู่ความสำเร็จ ต้องอาศัยพลังที่สำคัญคือ พลังความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไป องค์การมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในองค์การทั้งแบบสามัคคี และแบบแตกสามัคคี  ในองค์การที่ประสบความสำเร็จสูงสุดจะมีแต่ความสัมพันธ์แบบสามัคคี และใช้ความสัมพันธ์ด้านบวก ด้านดีต่อกัน แต่ละคนสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานด้วยจุดแข็งของตนและไปประสานกับจุดแข็งของเพื่อนร่วมงาน ทุกคนจะแปล่งประกายความเชื่อมั่นและความหวังใส่กัน  เคารพกัน เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือมีไมตรีต่อกัน จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์การที่จะบริหารความสัมพันธ์ในองค์การให้เป็นไปในด้านบวก ที่สำคัญต้องเรียนรู้ที่จะบริหารความสัมพันธ์กับขั้วตรงกันข้าม ให้เกิดความร่วมมือให้มากที่สุด เปรียบได้กับ วาทยากรที่ต้องควบคุมอารมณ์ของนักดนตรีให้บรรเลงเสียงเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งฉันใด ผู้นำก็จำเป็นต้องบริหารอารมณ์และความสัมพันธ์ของทุกคนในองค์การให้มีพลังร่วมพอที่จะขับเคลื่อนองค์การไปสู่ความสำเร็จได้
                จากองค์ประกอบของภาวะผู้นำทรงพลังที่กล่าวมาเห็นได้ว่าความตระหนักต่อตนเอง และการบริหารจัดการตนเอง เป็นสองปัจจัยแรกที่ผู้นำต้องพิจารณาว่า สามารถทำความเข้าใจ จัดการตนเองและจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดีเพียงไร ส่วนสององค์ประกอบหลังคือ ความตระหนักในสังคม และการบริหารความสัมพันธ์เป็นตัวบ่งชี้ว่า ผู้นำสามารถตระหนักและบริหารอารมณ์ของผู้อื่นได้อย่างไร  อย่างก็ตาม จากการวิจัย พบว่า ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส และมีความแหลมคมในวิสัยทัศน์เป็นคุณสมบัติของผู้นำที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ตามมีความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งในสังคมไทยก็มีตัวอย่างเชิงประจักษ์มากมาย โดยเฉพาะตัวอย่างของผู้นำทางการเมือง ที่เห็นได้ว่า  ผู้นำที่มีความซื่อสัตย์ จะได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สามารถครองใจและทรงพลังในการจูงใจอยู่เสมอ องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาจึงล้วนสนับสนุนต่อการพัฒนาภาวะผู้นำทรงพลังทั้งสิ้น

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 3 ภาวะผู้นำกับพลัง

ดังได้กล่าวแล้วว่า ภาวะผู้นำ คือ พลังของผู้นำที่สามารถส่งแรงกระทำอันก่อให้เกิดการขับเคลื่อนของกลุ่มคน และองค์การไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ที่วางไว้ ภาวะผู้นำจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลัง สอดคล้องกับ Shackleton (1995) ซึ่งกล่าวไว้ว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวถึงภาวะผู้นำ โดยไม่พูดถึงพลังของมันเลย (Impossible to Talk of Leadership Without also Discussing of the Power)
                อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับพลังว่า พลังเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคม มนุษย์ทุกคนต้องการที่จะได้รับการยอมรับนับถือ การยกย่องชมเชย ต้องการความมั่นคง การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันมาก  ๆ ทำให้เกิดพลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่Russell (1998) กล่าวว่า ในบรรดาความปรารถนาที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์นั้น ความต้องการที่สำคัญคือความต้องการพลัง การรวมตัวกันของสมาชิกในสังคมหนึ่ง   ๆ จะเกิดผู้นำ ผู้ตาม เช่น การรวมตัวกันของสมาชิกเพื่อทำ ผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนระดับที่สูงขึ้น พลังจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ กับผู้ตามที่มีอิทธิพลโน้มน้าวจูงใจให้สมาชิกสามารถปฏิบัติงานร่วมกันด้วยความเต็มใจ เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2525) กล่าวว่า ไม่มีใครสามารถให้คำ ตอบว่า พลังอยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร พลังเปรียบเทียบได้กับพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สามารถผลักดันให้บุคคลหน่วยงานหรือองค์การให้ปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ เนื่องจากความไม่ทัดเทียมกันใน การจัดสรรพลัง จึงทำให้เกิดบุคคลสองพวก คือ ผู้นำ และผู้ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของทั้งคู่ไม่ว่าจะพิจารณาจากความแตกต่างในรูปแบบใดก็ตาม ถ้าบุคคลสองพวกนี้ จำ เป็นต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันแล้วผู้นำ มักจะเป็นผู้ออกคำสั่ง ในขณะที่ผู้ตามมักจะเป็น ผู้เชื่อฟังและปฏิบัติตามเช่นกัน
จึงเห็นได้ว่า พลังเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากสำหรับองค์การ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ อรุณ รักธรรม (2527) ที่ว่า สิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดต่อการดำรงอยู่ขององค์การมิใช่ระบบสื่อสารที่ดีเลิศ หรือหลักมนุษย์สัมพันธ์หรือ การเข้าร่วมในกิจกรรมของสมาชิก แต่คือ พลัง (Power) ดังนั้น พลังจึงเปรียบเสมือนตัวยึดเหนี่ยวโครงสร้าง และกิจกรรมขององค์การเข้าไว้ด้วยกัน เป็นตัวหลักในการผลักดันให้กลไกต่าง ๆ ภายในองค์การ ทำงานไปตามปกติในทิศทางที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ และความเจริญก้าวหน้าขององค์การ ตลอดจนเป็นพื้นฐานของอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบอีกด้วย ขณะเดียวกันหน้าที่ ความรับผิดชอบ ก็เป็นแนวทางที่ทำ ให้บุคคลสามารถจะได้พลังอย่างไรก็ตาม การมีพลังในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น ควรจะอยู่ในระดับที่พอเหมาะกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลนั้น มิฉะนั้นอาจทำ ให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น ในกรณีผู้บริหารมีพลังน้อยเกินไป จะทำ ให้เกิดความอ่อนแอ ความสับสนและล่าช้าขึ้นในองค์การ และในกรณีที่ผู้บริหารมีพลังมากเกินไป อาจทำให้เกิดการก้าวก่ายในหน้าที่การงาน มีพฤติกรรมที่ขัดกับการยอมรับอันเป็นการผิดประเพณี ผิดกฎ ผิดระเบียบ หรือกฎหมาย และเป็นตัวการของความขัดแย้งได้
พลัง หมายถึง  ความสามารถหรือวิธีของของบุคคล หรือกลุ่มคนในการจูงใจให้บุคคลอื่นแสดงความสามารถหรือศักยภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์การ
                 อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่าความหมายของพลังยังคงเป็นประเด็นที่ให้ผู้รู้ได้อภิปราย ถกเถียงกันอีกมาก ทั้งนี้เพราะ ความหมายของพลังขึ้นอยู่กับบริบทของงานที่ศึกษา
 แหล่งที่มาของพลัง หมายถึง วิธีที่บุคคล หรือกลุ่มคนเข้ามาควบคุมฐานพลัง หรืออาจจะหมายความได้ว่า แหล่งที่มาของพลังและวิธีการที่จะได้มาซึ่งพลัง (Robbins, 1983)
                แนวคิดเกี่ยวกับพลัง มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณโดย พลาโต และโซเครตีส พยายามที่ศึกษาว่า ทำไมผู้นำจึงแสวงหาพลัง ซึ่งทำให้ได้รับคำตอบว่า ผู้นำต่างแสวงหาพลังเพื่อนำพลังนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม(ทินพันธ์ นาคะตะ, 2525)
Machiavelli(1950) ได้ศึกษาถึงแหล่งที่มาของพลัง และได้สรุปแหล่งที่มาของพลังไว้ดังนี้
                แหล่งที่มาของพลังตามแนวคิดของ Machiavelli
                                1) พลังตามกฎหมาย (Legal Power)เป็นพลังที่อยู่บนพื้นฐานของกฏหมาย ไม่ผูกพันกับตัวบุคคลหรือตำแหน่ง กล่าวคือ สามารถขยายไปสู่บุคคลและตำแหน่งเฉพาะตามที่กฏหมายระบุ ภายในขอบเขตหน้าที่ในหน่วยงานเท่านั้น
                                 2) พลังตามประเพณี (Traditional Power) เป็นพลังที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของสถานภาพบุคคล ซึ่งได้ใช้พลังนั้นมาในอดีต เป็นพลังอำนาจที่เป็นมรดกตกทอดมาจากประเพณี ค่านิยมจากอดีต
                                 3) พลังบารมี (Charismatic Power) เป็นพลังที่ได้รับจากการยกย่องบูชา หรือ ความนับถือในตัวบุคคลเป็นพิเศษ  จากคุณลักษณะที่ดีที่มีในตัวบุคคลนั้น  ๆ ทั้งนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติ หรือการยอมรับเฉพาะตัวบุคคล เช่น บุคลิกภาพ พฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆ
                Lasswell and Kapla (1969) ได้สรุปปัจจัยที่เสริมพลังให้กับผู้นำ  ซึ่งเรียกว่า พลังนิยม 8 ประการดังนี้
     1) พลังทางทางการเมือง
     2) พลังการยอมรับนับถือ
     3) พลังความซื่อตรง
     4) พลังความรัก
     5) พลังความสมบูรณ์พูนสุข
     6) พลังความร่ำรวย
     7) พลังทักษะ
     8) พลังความรอบรู้
ในสังคมไทย ได้มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับแหล่งที่มีของพลังเช่นกัน ดังนี้
อรุณ รักธรรม(2523)ได้รวบรวมแหล่งของพลังในบริบทของสังคมไทยไว้ ดังนี้
                                 1) หน้าที่ปฏิบัติ  หน้าที่ที่ปฏิบัติย่อมแสดงถึง การมีพลังเหนือบุคคลอื่น หน้าที่ที่ปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งสำคัญในการเสริมให้บุคคลนั้นมีพลังด้วย
                                 2) จำนวนสมาชิกที่ทำงานด้วย พลังนั้นย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับจำนวนสมาชิกหรือที่เรียกว่า บริวาร มากน้อยที่ทำงานอยู่ด้วย
                                3) บุคคลที่คบค้าสมาคมด้วย การคบค้าสมาคม หรือการคบเพื่อนที่ มีพลัง ทำให้คนคนนั้นย่อมมีพลังชนิดนั้นไปด้วย  
                        4) บุคลิกลักษณะ บุคลิกลักษะของแต่ละบุคคล มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ
ผู้ที่จะเป็นนักปกครอง นักบริหาร หัวหน้าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือผู้ที่หวังจะก้าวหน้าในหน้าที่ตำแหน่งการงาน ผู้ที่บุคลิกภาพดีย่อมเป็นผู้ได้เปรียบหรือได้แต้มต่อ ในระยะแรกจะเป็นผู้ที่น่านับถือ น่าเคารพ น่าเลื่อมใสต่อบุคคลที่พบเห็น โดยไม่ต้องพูดจาแต่ประการใด
                        5) มนุษยสัมพันธ์  มนุษย์ต่อมนุษย์มีความสัมพันธ์กัน เป็นปัจจัยแรกที่ติดต่อกัน เป็นเรื่องของคนต่อคน มนุษย์สัมพันธ์กันนับเป็น พลังภายใน เป็นสิทธิอำนาจ ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของบุคคลนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด หรือทำหน้าที่เป็นประชาชนธรรมดาหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การชนะจิตใจคน ได้ต้องใช้หลักมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งในแง่มุมของมนุษยสัมพันธ์แล้ว มนุษยสัมพันธ์ที่ดีเปรียบเสมือนพลังนั่นเอง
6) ของที่ใช้ บางครั้ง พลังได้มาจากของที่ใช้ ตำแหน่ง เงินเดือน รวมทั้งรวมทั้ง
บ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ใดใช้ของดีกว่า แพงกว่า ย่อมมีพลังเหนือกว่า
                        7) ทรัพยากร ซึ่งหมายความรวมถึงวัสดุต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน คนที่มีทรัพย์มาก มีที่ดินหลายร้อยไร่ รถยนต์หลายคัน ย่อมมีบริวาร และนำมาซึ่งพลังที่มีมากกว่าผู้อื่น
                        8) ประเพณีนิยม เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่อยู่ใต้พลังยอมรับนับถือในลักษณะของตัวบุคคล ซึ่งได้พลังอำนาจนั้นมาตามระเบียบประเพณีมากกว่าการยอมรับนับถือเพราะกฎเกณฑ์ นอกนั้นยังเคารพนับถือในระบบอาวุโส  คนไทยถูกสอนให้เคารพ เชื่อฟังและยำแกรงผู้อาวุโสเสมอมา เช่นลูกเชื่อฟังพ่อแม่ น้องเชื่อฟังพี่ สิ่งเหล่านี้เป็นพลังที่ได้รับหรือที่มีตามประเพณีนิยม
3) ฐานของพลัง ฐานของพลังแตกต่างจากแหล่งที่มาของพลัง Robins (1983)ให้ความหมายของฐานพลังว่า ฐานพลังหมายถึง การนำพลังไปใช้
Etzioni (1967) จำแนกฐานของพลังในองค์การออกเป็น 3 ประเภทคือ
1) พลังการมีอำนาจบังคับ (Coercive Power) เป็นพลังที่ผู้บริหารใช้ เพื่อให้สมาชิก
ขององค์การปฏิบัติตามวิถีที่กำหนดไว้
                                2) พลังจากสินนํ้าใจ (Renumerative Power) เป็นพลังที่ผู้บริหารใช้ทรัพยากรอันก่อประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น การให้ค่าตอบแทน ค่าจ้าง
                3) พลังจากความสัมพันธ์ทั่วไป (Normative  Power) เป็นพลังจที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องบุคคล เช่น ความต้องการ ความสำเร็จ ความเป็นเพื่อน และค่านิยมของกลุ่มหรือการใช้ความสามารถในการกระตุ้นให้บุคคลอื่นคล้อยตาม และปฏิบัติตามที่ต้องการ
 Robbins (1983) ได้แบ่งแยกฐานพลังออกเป็น 4 ฐาน คือ
                1) พลังบังคับ (Coercive Power) โดยผู้บริหารที่มีพลังนี้ สามารถลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาในกรณีที่ละเลย หรือไม่ปฏิบัติตามได้
                 2) พลังการให้รางวัล (Reward  Power) เกิดจากความสามารถของผู้บริหารในการให้รางวัล เช่น ค่าจ้าง หรือสิ่งตอบแทนอื่น   ๆ ที่ก่อให้เกิดการปฏิบัติตามได้
                3) พลังการชักชวน (Persuasive Power) เกิดจากการที่ผู้บริหารสามารถว่าจ้าง จัดทำ สื่อสาร หรือมีอิทธิพล ต่อบรรทัดฐานของกลุ่มให้เกิดการปฏิบัติตามได้
 4) พลังการมีความรู้ (Knowledge  Power) เป็นความรอบรู้และเชี่ยวชาญของ
ผู้บริหาร ที่ทำให้ได้รับการยอมรับ ปฏิบัติตามจากผู้ใต้บังคับบัญชา
Fren chand Raven (1957) ซึ่งได้เสนอว่า ฐานของพลัง ประกอบด้วย 5 ด้าน เป็นเครื่องมือวัดศักยภาพ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลอื่นอย่างได้ผล คือ
                 1) พลังการให้รางวัล (Reward Power) เกิดจากความสามารถของผู้บริหารที่จะให้รางวัลตอบแทนบุคคลอื่น สำหรับความสำเร็จของงาน และเชื่อว่า การยอมปฏิบัติตาม จะนำไปสู่การให้รางวัล ด้วยวิธีการขึ้นเงินเดือน ค่าจ้าง การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือการยกย่องสรรเสริญ
                 2) พลังการบังคับ (Coercive Power) หรือพลังอำนาจการให้คุณให้โทษเกิดจากความกลัวผู้บริหารที่มีพลังอำนาจสูง หรือที่สามารถให้คุณให้โทษสูงทำให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชายอมปฏิบัติตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษตามกฎเกณฑ์ หรือระเบียบวินัย เช่น การว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ หรือไล่ออก
                 3) พลังตามกฎหมาย (Legitimate Power) หรือพลังชอบธรรม  เกิดจากตำแหน่งที่ผู้บริหารครองอยู่ตามปกติ ถ้ามีตำแหน่งสูงขึ้นเท่าใด พลังตามกฎหมายก็มากขึ้นเท่านั้น ผู้บริหารที่มีพลังตามกฎหมายสามารถมีอิทธิพลต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้พึงปฏิบัติ เพื่อมิให้เป็นการละเมิดต่อกฎหมาย
                  4) พลังอ้างอิง (Referent Power) เกิดจากคุณลักษณะพิเศษของผู้บริหารเป็นพลังที่ทำ ให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เอาแบบอย่างพฤติกรรมผู้บริหารที่มีพลังอ้างอิงสูงจะเป็นที่รักใคร่นับถือของบุคคลอื่น อันเนื่องมาจาก บุคลิกลักษณะ การชอบพอ การนับถือยกย่อง ซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
                                5) พลังความเชี่ยวชาญ (Expert Power) เกิดจากผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญมีทักษะและความรู้ จะได้รับการยอมรับนับถือ สิ่งเหล่านี้ทำ ให้มีอิทธิพลต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
             จึงเห็นได้ว่า ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์การ ผู้นำในองค์การไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหาร แต่ผู้บริหารจำเป็นต้องมีภาวะผู้นำ และต้องเป็นภาวะผู้นำที่มีพลังเพียงพอที่จะให้พลัง (Empower) และเสริมพลัง (Empowerment) ให้กับผู้ตามอย่างเหมาะสม  การทรงพลังของผู้บริหารจึงมีความสำคัญและจำเป็น

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 2 วิวัฒนาการทางความคิดและทฤษฎีภาวะผู้นำ

                             นับเป็นเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ที่มนุษย์เห็นความสำคัญของผู้นำ และได้เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับผู้นำมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 4  ยุค ดังนี้
                                ยุคแรก กลุ่มทฤษฎีลักษณะของผู้นำ
ยุคที่ 2 กลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมผู้นำ
ยุคที่ 3 กลุ่มทฤษฎีภาวะผู้นำตามสถานการณ์
ยุคที่ 4 กลุ่มทฤษฎีภาวะผู้นำบูรณาการ
                                แนวคิดเหล่านี้ มีความเชื่อแตกต่างกันออกไป และได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นที่ยอมรับ ในขณะที่ปัจจุบันแนวคิดเหล่านี้ได้รับการทบทวนและมีการสร้างแนวคิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เห็นวิวัฒนาการของแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำได้ชัดเจนและต่อเนื่อง  
                                ยุคแรก  กลุ่มทฤษฏีลักษณะผู้นำ (ค.ศ. 1950-1960)
                                 ทฤษฎีลักษณะผู้นำ (Leadership Traits) เริ่มขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อนักจิตวิทยาในกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาหาวิธีคัดเลือกนายทหาร การศึกษาดังกล่าวได้จุดประกายให้เกิดความกระตือรือร้น สนใจในการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ภายหลังสงคราม นักวิจัยจึงได้เริ่มศึกษาเพื่อระบุลักษณะที่สำคัญ ๆ ของบุคคลซึ่งใช้แยกระหว่างบุคคลที่มีความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ (Effective Leaders) ออกจากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้นำ  
                                 ยุคที่ 2 กลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมของผู้นำ (ค.ศ. 1960-1970)
                นักวิชาการที่เห็นด้วยกับในแนวคิดนี้ มีความเชื่อว่า ความสำเร็จของผู้นำในการปฏิบัติงานมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับสิ่งที่เขาทำมากกว่า กล่าวคือ เชื่อว่า ความสำเร็จของผู้นำ มาจากสิ่งที่เขาทำมากกว่าลักษณะที่เขาเป็น และเชื่อว่า ลักษณะเด่นเป็นสิ่งที่ติดตัวมา เปลี่ยนแปลงได้ยากในทางตรงกันข้ามเป็นไปได้ง่ายกว่าที่เราจะเรียนรู้พฤติกรรมที่ทำให้ผู้นำเหล่านั้นประสบความสำเร็จ  งานวิจัยในระยะที่ 2 จึงมุ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมผู้นำ คำถามสำคัญในกลุ่มนี้ คือ พฤติกรรมดี ๆ สำหรับผู้นำนั้นมีอะไรบ้าง
                นักวิจัยที่ทำการศึกษา พฤติกรรมความสำเร็จของผู้นำ ปรากฏอย่างเด่นชัด 4 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัยไอโอวา (University of Iowa) มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไอโอ (Ohio State University) รวมทั้งกลุ่มนักวิจัยอิสระ อาทิ Robert Tannembaum กับ Waren H. Schmidt และ Robert Blake กับ Srygley Mouton เป็นต้น
               ยุคที่ 3 กลุ่มทฤษฎีภาวะผู้นำตามสถานการณ์ (คศ. 1980-1990)ยุคที่ 4 กลุ่มทฤษฎีภาวะผู้นำบูรณาการ
                ทฤษฎีผู้นำตามสถานการณ์มีแนวความคิดว่าผู้นำจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างมีระบบจากสถานการณ์หนึ่งไปยังอีกสถานการณ์หนึ่งเพื่อความเหมาะสมทั้งสถานที่และเวลา  ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีคุณลักษณะของผู้นำ และทฤษฎีพฤติกรรมผู้นำที่อธิบายว่าลักษณะของผู้นำมีรูปแบบที่คงที่ตายตัว  ทฤษฎีภาวะผู้นำตามสถานการณ์  ทำให้เชื่อว่าการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้นำจำเป็นต้องปรับแบบภาวะผู้นำของตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น  ภาวะผู้นำในกลุ่มนี้ ได้แก่
                                1) ทฤษฎีเชิงสถานการณ์ของภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพของ Fiedler (Fiedler’ Contingency Theory of Leadership Effectiveness)
                                2) ทฤษฎีเชิงสถานการณ์ของ  Hersey – Blanchard
                                3) ทฤษฎีเส้นทางสู่เป้าหมาย ( Path Goal Theory ) ของ Robert House
                                4) ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ ของ Vroom –Yetton – Jago
                                5) ทฤษฎีผู้นำ 3 มิติของ Reddin  เป็นต้น
               
              ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1970-1979  ได้มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การศึกษาทฤษฎีภาวะผู้นำ โดยได้มีการศึกษาทฤษฎีภาวะผู้นำแบบบูรณาการ โดยได้นำเอาทฤษฎีคุณลักษณะ ทฤษฎีพฤติกรรมผู้นำ และทฤษฎีภาวะผู้นำตามสถานการณ์เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้รูปแบบภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพสงสุด ทั้งนี้ ทฤษฎีภาวะผู้นำตามกระบวนทัศน์นี้ มีดังนี้
1) ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงบารมี (Charismatic Leadership)
2) ทฤษฎีภาวะผู้นำแปลงสแปลงสภาพ (Transformational Leadership)
3) ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transactional Leadership)
4) ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ (Strategic Leadership) เป็นต้น

ผู้นำทรงพลังทางการศึกษา : ตอนที่ 1 มโนทัศน์เกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำ

                               ไม่มีกลุ่มหรือองค์กรใดไม่มีผู้นำและกลุ่มหรือองค์กรเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้นำเป็นสำคัญ
                              ผู้นำ และภาวะผู้นำ มีความแตกต่างกัน คำว่าผู้นำ หรือ Leader ปรากฎอยู่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ราวปี ค.ศ. 1300 (พ.ศ. 1843) หรือประมาณเจ็ดร้อยปีที่แล้ว แต่คำว่า ภาวะผู้นำ หรือ Leadership ปรากฏภายหลังประมาณปี ค.ศ. 1800 (พ.ศ. 2343) หรือประมาณสองร้อยปีที่แล้ว (ทองหล่อ เดชไทย, 2544)
                             ความหมายของผู้นำและภาวะผู้นำมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ผู้นำจะหมายถึงตัวบุคคลที่สามารถจูงใจให้คนในกลุ่ม หรือองค์กรรวมพลังกันปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มหรือองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพส่วนภาวะผู้นำจะหมายความถึง ความสามารถ หรือพฤติกรรมตลอดจนพลังของผู้นำที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มหรือผู้ตามเพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร
                                     ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอยู่หลายประการ จึงทำให้คนส่วนหนึ่งเชื่อว่าภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่ลี้ลับไม่อาจสัมผัสได้ แต่ Daft (2002 ) กลับมีความเห็นตรงกันข้าม เขาเชื่อว่าภาวะผู้นำสามารถสร้างขึ้นได้จากการใช้ความพยายามและการทำงานหนักของบุคคลนั้น                            Daft (2002)ได้สรุปไว้ว่า  ภาวะผู้นำสามารถพัฒนาได้ และการพัฒนานั้นแบ่งได้เป็น การพัฒนาความเป็นผู้นำ 4  ระยะ ดังนี้
                                ระยะที่ 1 ขั้นไม่รู้ตนเองและไม่มีความสามารถ เป็นระยะที่ผู้นั้นยังไม่รู้ตนเองและยังขาดความสามารถ ซึ่งหมายความว่า เขาผู้นั้นยังไม่มีความสามารถต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำ  และยังไม่รับรู้ว่าหรือทราบว่าตนเองยังขาดความสามารถดังกล่าว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยังไม่เคยพยายามที่จะเป็นผู้นำ เช่นเดียวกับการเล่นกีฬา ซึ่งในเบื้องต้น ผู้เล่นยังอาจไม่ทราบว่าตนเองเล่นได้ดีเพียงไร แค่ไหน จนเมื่อพยายามเล่นก็จะค้นพบความสามารถของตนเอง และรู้ว่าถ้าจะให้เล่นเป็นหรือเล่นดีกว่านี้ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือหรือปรับปรุงอย่างไรบ้าง  ทำนองเดียวกันการพัฒนาภาวะผู้นำ หากบุคคลนั้นรู้ว่าหากตนเองต้องการเป็นผู้นำ จำเป็นต้องเรียนรู้หรือปรับปรุงด้านใดบ้าง
                                ระยะที่ 2 รู้ตนเองแต่ไม่มีความสามารถ เป็นขั้นตอนที่บุคคลนั้นรับรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างถ้าต้องการเป็นผู้นำที่ดี ในขณะที่ยังคงขาดความสามารถของการเป็นผู้นำอยู่
                                ระยะที่ 3 รู้ตนเองและมีความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นรู้จุดอ่อนของตน จึงลงมือฝึกฝนปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาจนเกิดความสามารถที่เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำขึ้น เช่น เป็นผู้มีความสามารถด้านวิสัยทัศน์ สามารถโน้มน้าวจูงใจให้บุคคลอื่นยึดมั่นและผูกพันต่อวิสัยทัศน์นั้น มีความกล้าเสี่ยงที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ระยะที่ 3 จึงเป็นระยะที่บุคคลนั้นมีภาวะผู้นำแล้ว
                                ระยะที่ 4 ไม่รู้ตนเองแต่มีความสามารถ เป็นระยะสุดท้ายที่ทักษะที่ได้เรียนรู้ ถูกดูดซับจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลนั้นไปแล้วโดยอัตโนมัติ และสามารถดึงมันออกมาใช้อย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่รู้สึกตัว เช่น สามารถเกิดวิสัยทัศน์ขึ้นอย่างไม่ตั้งใจในลักษณะของการหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด
                             DuBrin (1998) เสนอว่า  ภาวะผู้นำสามารถพัฒนาได้โดยกระบวนการต่อไปนี้
1) การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการใช้การรับรู้ด้วยตนเองและการสร้างวินัยในตนเอง (Development Through Self Awareness and Self Discipline) ดังนี้
                                1.1) การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการใช้การรับรู้ด้วยตนเอง
                                        เป็นการหยั่งลึกหรือทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เพื่อการตัดสินใจที่ดีและถูกต้อง
1.2) การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการสร้างวินัยในตนเอง  
        เป็นการปฏิบัติตนด้วยการควบคุมตนเองให้สามารถปฏิบัติตามระเบียบหรือกฏเกณฑ์เพื่อบรรหมาที่วางไว้การสร้างวินัยในตนเองมีความจำเป็นเพราะเป็นสิ่งที่กำหนดให้กิจกรรมประจำวันของผู้นำอยู่ในกรอบที่เหมาะสม และส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และประสิทธิภาพการทำงาน
2) การพัฒนาภาวะผู้นำด้วยการให้การศึกษา ประสบการณ์ และการให้คำแนะนำจากผู้ที่มีอาวุโสกว่า (Development Through Education, Experience and Mentoring) ดังนี้
2.1)  ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์ในทางเดียวกับการบริหารเพื่อให้บรรลุผล
สำเร็จและสนับสนุนการปฏิบัติงานตำแหน่งของผู้นำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้จะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนระยะเวลาที่เป็นประสบการณ์ของผู้นำ และความสามารถของผู้นำในการประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้น
                                2.2) ประสบการณ์ หมายถึง ประสบการณ์ทำงานในอดีตที่มีบทบาทสำคัญใน
การตัดสินใจ ผู้นำที่มีประสบการณ์โดยทั่วไปเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ จะสามารถบรรลุผลสำเร็จ และขจัดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ ถือว่าเป็นข้อแนะนำที่ดีสำหรับผู้นำในอนาคตที่มาจากประสบการณ์
ที่สำคัญประสบการณ์จากภาวะผู้นำยังช่วยสร้างทักษะได้ด้วยตนเอง อนึ่ง ประสบการณ์ที่ได้รับอาจมาจากความร่วมมือในงาน (Work Associates) และลักษณะงาน (Task Characteristics) เป็นต้น
                                2.3) การได้รับคำแนะนำจากบุคคลที่อาวุโสกว่า  หมายถึง การที่ผู้ที่มีอาวุโสกว่ามีประสบการณ์มากกว่าช่วยเหลือผู้ร่วมงานที่มีอาวุโสน้อยกว่า โดยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือการกระตุ้นต่าง ๆ และการสอนงาน ซึ่งการสอนงานโดยทั่วไปมักเกิดจากความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ ที่มีพื้นฐานบนความชอบพอกันเป็นส่วนใหญ่
Ronya Banks (1997) ได้เขียนบทความเรื่อง 10 Ways to Improve Your Leadership” ซึ่งได้เสนอวิธีการ10 วิธี ในการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
                                1) มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนต่อตนเอง บุคคลอื่น ๆ และสังคม (Have a Clear Vision Yourself, Other and the World) ผู้นำต้องพึงระลึกไว้ว่า วิสัยทัศน์เป็นการสร้างความแตกต่างระหว่างผู้นำ เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นความคิด ประสบการณ์ และมุมมองต่อการบริหารจัดการองค์กรได้เป็นอย่างดี ดังนั้น  การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนได้ ผู้นำต้องถามตัวเองว่า ตนเองคือใคร มีจุดหมายในการดำเนินชีวิตอย่างไร มีความต้องการจะมีอิทธิพลต่อผู้อื่นอย่างไร มีความต้องการที่จะสนับสนุนตนเอง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือสังคมอย่างไร แล้วพยายามตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เพื่อนำไปสร้างวิสัยทัศน์ให้เกิดขึ้นจริง
                                2) รู้และนำจุดแข็งและพรสวรรค์ของตนเองไปใช้ (Know and Utilize Strength and Gift) แต่ละท่านมีพรสวรรค์ที่แตกต่างกันตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งยังมีจุดแข็งในการทำงาน และต่อ
การดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นผู้ นำต้องตระหนักถึงการนำเอาจุดแข็ง และพรสวรรค์ของตนมาใช้ในการทำงาน เพื่อที่จะช่วยให้กลายเป็นผู้นำที่น่าเกรงขามในที่สุด อนึ่ง Peter Drucker ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการแนะนำว่า ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาจุดแข็งของตนมากกว่าการปรับปรุงจุดอ่อน เพราะการทำให้จุดแข็งมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าการเสียเวลาไปกับการปรับปรุงจุดอ่อน
                                3) ดำเนินชีวิตด้วยศีลธรรมและคุณค่าของตน (Live of Accordance with Your Morals and Values) ผู้นำที่ไม่มีศีลธรรม รวมทั้งไม่มีศักดิ์ศรีในตนเอง เพราะมัวแต่มองเห็นว่าคุณค่าของตนเองมีค่าน้อยกว่าวัตถุสิ่งของที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต นับว่าเป็นผู้นำที่ไม่พึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้นำอีกมากที่ดำเนินชีวิตในลักษณะนี้ เพราะทนต่อความเย้ายวนของกิเลสไม่ได้   ผู้นำต้องระลึกไว้เสมอว่า ศีลธรรม คือ เกราะคุ้มกันไม่ให้สิ่งไม่ดีมา
กล้ำกราย  
4) นำผู้อื่นด้วยจิตใจที่กว้างขวางและมีเมตตา (Lead others with Inclusiveness and
Compassion) ผู้นำที่ดีต้องนึกถึงผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน ต้องรู้จักให้อภัยต่อผู้อื่นและให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ เช่น การให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์ ตลอดจนการมอบสิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ เป็นต้น
                                5) ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและทำตามแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม (Set Definitive Goal and Follow Concrete Action Plans) การพัฒนาทักษะเป้าหมายของผู้นำต้องเริ่มตั้งแต่ การ
ตั้งเป้าหมายในชีวิตของตนเองเสียก่อน โดยผู้บริหารต้องทราบจุดมุ่งหมายปลายทางของการทำงานและกำหนดแผนการที่จะบรรลุเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน ผู้นำที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง และเป้าหมายอย่างชัดเจนเปรียบเสมือนคนที่หลงอยู่ในป่า โดยไม่มีแผนที่หรือเข็มทิศ ซึ่งจะนำมาซึ่งอันตรายและการสูญเสีย
6) คงทัศนคติเชิงบวกไว้ (Maintain a Positive Attitude) ทัศคติเชิงบวกทำให้ผู้นำ
ไม่เกิดความเครียด และพร้อมที่จะเผชิญหน้าเพื่อแก้ปัญหาต่อไป การคิดบวก พูดบวก และทำบวก ช่วยสร้างสุขในเกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน  อย่างไรก็ตาม การคิดเชิงบวกต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่ทำแค่หลอกลวงตนเอง
7) พัฒนาทักษะการสื่อสาร (Improve Communication Skill) ทักษะการสื่อสาร
เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับผู้นำ  เพราะถ้าผู้นำไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานก็ไม่สามารถดำเนินไปในทิศทางที่พึงปรารถนาได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารทั้ง แบบวัจนภาษา และอวัจนภาษาให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสื่อสารที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในปัจจุบัน  ผู้นำต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ในการนำเสนองานหรือการประชุม การใช้อีเมล์และการใช้เครื่องใช้ในสำนักงานต่าง ๆ เป็นต้น
8) จูงใจผู้อื่นให้ทำในสิ่งที่ดีที่สุด (Motivate Others to Greatness) ผู้นำที่มี
ประสิทธิภาพสูงสุด คือ ผู้นำที่มีทีมงานที่แข็งแกร่ง  การได้มาซึ่งทีมงานที่ดีนั้น ผู้นำจะต้องสร้างแรงจูงใจที่จะกระตุ้นให้คนเหล่านั้นอยากทำงาน และพร้อมที่จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การ  การจูงใจต้องทำทั้งภายนอกและภายใน คือ การให้รางวัลสิ่งตอบแทน (ภายนอก) การชมเชย (ภายใน)  การให้ความสำคัญ การให้โอกาสตัดสินใจ และการมอบอำนาจ เป็นต้น  โดยผู้บริหารต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกแต่ละคน
9) เต็มใจที่จะยอมรับ และเรียนรู้จากความล้มเหลวและจุดอ่อนของตน (Be Wiling
to Admit and Learn from Failures and Weaknesses) ทุกคนเกิดมาไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ  ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเองทั้งด้านเด่น ด้านด้อย ความล้มเหลวที่ผ่านมาจะเป็นภูมิต้านทานที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น ผู้นำต้องระลึกไว้เสมอว่า ก่อนที่จะประสบความสำเร็จต้องล้มเหลวก่อน ดังนั้น ผู้นำต้องรู้จักอดทน อดกลั้น ต่อความล้มเหลวของตัวเอง และพยายามปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
10) ใฝ่รู้และปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง (Continue to Educate and Improve Yourself) ผู้นำที่ดีต้องใฝ่รู้ตลอดเวลา ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ทำให้คนเราฉลาดมากขึ้น และนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ในการทำงาน
                 อย่างไรก็ตาม  ตลอดเวลาที่ผ่านมาเห็นได้ว่าความหมายของผู้นำ  ภาวะผู้นำ  ตลอดจนการพัฒนาภาวะผู้นำจึงมีความเป็นพลวัต  แหละนี่ เสน่ห์ของการศึกษาเกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำที่มีองค์ความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา